ระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2568 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และหัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ เข้าร่วมงานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ครั้งที่ 6 (Advanced Engineering Workshop VI) ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูงของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารจากทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ร่วมเวทีการอภิปรายในหัวข้อ “โครงการความร่วมมือด้าน Advanced Engineering ในอนาคต” ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเจาะลึกเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและเครื่องเร่งอนุภาค การพัฒนา Atomic Mass Spectrometer (AMS) การพัฒนาอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อรองรับเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาโครงการ Tokamak Thailand จากนักวิจัยชั้นนำของประเทศ รวมถึงการนำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนา Scanning Electron Microscope (SEM) ร่วมกันอันได้แก่ ความก้าวหน้าและการออกแบบระบบควบคุม SEM การพัฒนาระบบผลิตลำอิเล็กตรอนสำหรับโครงการร่วมพัฒนา SEM การพัฒนา Secondary Electron Detector และวงจรอินเทอร์เฟส สำหรับ SEM การพัฒนา Image Processing และ User Interface สำหรับโปรแกรมอ่านภาพในโครงการร่วมพัฒนา SEM และ การออกแบบ Vacuum Chamber และ โครงสร้างของเครื่อง SEM
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้ทำกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเข้มข้น ได้แก่ เครื่องเร่งอนุภาคสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น การทดลองเพื่อประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอน ระบบสุญญากาศ เทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มบาง ระบบแม่เหล็กสำหรับเครื่องเร่งอนุภาค ระบบความเย็นยิ่งยวด ปฏิบัติการด้านการเชื่อมและควบคุมคุณภาพ และการศึกษาพลศาสตร์ของไหลแม่เหล็กของพลาสมาในเครื่องโทคาแมก เป็นต้น และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของสถาบันฯ เช่น การพัฒนาปั๊มสุญญากาศระดับยิ่งยวดชนิดไอออน ห้องปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค ห้องพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทัศนศาสตร์ เป็นต้น
















