บันทึกการเดินทางเยี่ยมหน่วยงานวิจัย ณ สหพันธรัฐเยอรมนี ตอนที่ 4

คัดลอกจากบางส่วนของงานเผยแพร่เป็นสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดย มนต์ชัย จิตรวิเศษ

*ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ จากหนังสือ One hundred years at the intersection of chemistry and physics โดย J. James, T. Steinhauser, D. Hoffmann and B. Friedrich

ตอนที่ 4

FHI | Fritz Haber Institute of The Max Planck Society

===============================================

One hundred years at the intersection of chemistry and physics…

ภารกิจสุดท้ายของคณะเดินทางที่อาจนับได้ว่าเป็นภารกิจหลักของการเดินทางมาเยือนสมาพันธรัฐเยอรมนีในครั้งนี้ คือการมาทำความรู้จักและสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับ Fritz Haber Institute (FHI) ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Dahlem ของเมือง Berlin ในอาณาบริเวณติดกับ Freie Universität Berlin

FHI เป็นสถาบันวิจัยที่มีความเป็นมายาวนาน นับได้กว่าร้อยปี ผ่านเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมายหลายครั้ง แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติอันน่าสนใจไม่แพ้งานวิจัยของสถาบัน ก็จะขอเล่าถึงสาเหตุว่าทำไมทีมวิจัยของเราถึงต้องการที่จะสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยกับสถาบันแห่งนี้ โดยเฉพาะการสร้างเครื่องมือวิจัยขั้นสูงอย่างเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ (FEL) และการประยุกต์ ก็อาจพูดกันอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า FHI เป็นหนึ่งในสถาบันที่ทีมวิจัย คือ ห้องปฏิบัติการวิจัยอิเล็กตรอนเชิงเส้น ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือวิจัยกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม เป็นหัวหน้าโครงการและสร้างเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรด มองเป็นต้นแบบ และพยายามอยากจะสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมวิจัยลักษณะนี้ พวกเราฝันจะเห็นสถาบันเช่นนี้เกิดขึ้นบ้างในประเทศไทยของเรา เป็นฝันใหญ่ๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง

ในปัจจุบัน FHI อยู่ภายใต้โครงสร้างของสมาคมมักซ์พลังค์ (Max Planck Gesellschaft; MPG) ซึ่งเป็นสมาคมวิจัยองค์ความรู้พื้นฐานทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ของเยอรมนี ตั้งชื่อตามอดีตนายกสมาคม Max Planck นักฟิสิกส์ทฤษฎี หนึ่งในผู้ให้กำเนิดทฤษฎีควอนตัม และเป็นผู้ที่เปรียบเสมือนเสาหลักของวงการฟิสิกส์ของเยอรมนีในขณะนั้น MPG มีสถาบันวิจัยในสังกัดที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ กระจายอยู่ตามหัวเมืองทั่วเยอรมนี รวมถึงบางส่วนในต่างประเทศด้วย MPG เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในอันดับต้นๆ ของโลกในด้านงานวิจัยโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ถึงปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดได้รับรางวัลโนเบลนับรวมกันจำนวน 39 ท่าน

สำหรับ FHI ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Fritz Haber นักเคมีฟิสิกส์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรก (Founding director) ปัจจุบัน FHI มีสายงานวิจัยแบ่งได้ใน 5 departments คือ Inorganic chemistry, Interface science, Molecular physics, Physical chemistry และ Theory ซึ่งถ้ามองในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่ามีโครงสร้างงานวิจัยค่อนไปในทางพื้นฐาน Physical chemistry หรือ Chemical physics ที่มีรากฐานมาตั้งแต่ช่วงก่อตั้งสถาบัน ซึ่งจะกล่าวต่อไปภายหลัง ความภาคภูมิใจหนึ่งของชาว FHI คือ มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่เคยทำงานภายใต้สถาบันจำนวนถึง 7 ท่าน ประกอบด้วย

  • Max von Laue (Physics, 1914) – discovery of x-ray diffraction by crystals
  • Fritz Haber (Chemistry, 1918) – invention of the Haber-Bosch process to synthesise ammonia from nitrogen gas and hydrogen gas
  • James Franck (Physics, 1924 with Gustav Hertz) – discovery of the law governing the impact of an electron upon an atom (Franck-Hertz experiment) 
  • Heinrich Wieland (Chemistry, 1927) – work on bile acids
  • Eugene Wigner (Physics, 1963) – discovery and application of fundamental symmetry principles to the theory of the atomic nucleus and the elementary particles
  • Ernst Ruska (Physics, 1986) – work on electron optics, design of the first electron microscope
  • Gerhard Ertl (Chemistry, 2007) – studies of chemical processes on solid surfaces

FHI ลงทุนอย่างมากด้านเครื่องมือขั้นสูงในการทำงานวิจัยพื้นฐานมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน หนึ่งในเครื่องมือขั้นสูงที่สำคัญ คือ เลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านกลางอินฟราเรดและเทร่าเฮิรตซ์ (MIR/THz FEL) ที่สามารถผลิตแสงเลเซอร์ความเข้มสูงย่าน MIR และ THz ที่ปรับเปลี่ยนความยาวคลื่นได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการในช่วง 3-50 ไมโครเมตร สำหรับ MIR และ 5-160 ไมโครเมตรสำหรับ THz โดยหลักการคร่าวๆ คือ อิเล็กตรอนจะถูกผลิตที่ปืนอิเล็กตรอน จากนั้นจะถูกเร่งในระบบสุญญากาศ ด้วยคลื่น RF ในท่อเร่งเชิงเส้น (linac) จนมีอัตราเร็วเข้าใกล้แสง มีพลังงานอยู่ในช่วง 15-50 MeV ทำให้เกิดห้วงอิเล็กตรอน (macropulse) ที่ประกอบด้วยพัลส์ของอิเล็กตรอน (micropulse) วิ่งต่อกันเป็นขบวน โดยทุกๆ 1 วินาที จะมี macropulse วิ่งผ่านไปจำนวน 20 ห้วง (ความถี่ macropulse 20 Hz) ในแต่ละห้วงประกอบด้วย micrpulse ที่มีความถี่ 1 GHz (micropulse วิ่งผ่านไป 1 พันล้านพัลส์ในเวลา 1 วินาที) ความพิเศษและโดดเด่นของ FHI-FEL คือ ถูกออกแบบให้สามารถผลิตแสงทั้งสองช่วง (MIR และ THz) ได้พร้อมๆกัน หรือที่เรียกว่า two-colour operation โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า kicker ซึ่งถูกขับด้วยคลื่น RF ที่ความถี่ 500 MHz ทำให้เกิดสนามไฟฟ้าสลับทิศไปมา 500 ล้านรอบ ใน 1 วินาที เมื่อพัลส์อิเล็กตรอนที่ถูกเร่งมาในตอนต้นผ่านเข้าสู่ kicker สนามไฟฟ้าก็จะทำหน้าที่เตะพัลส์เหล่านี้ให้เบน ซ้าย-ขวา สลับกัน (แยกกันด้วยมุม +- 2 องศา เทียบกับแนวการเคลื่อนที่เดิม) เกิดเป็นขบวนของพัลส์อิเล็กตรอนสองขบวน ขบวนหนึ่งจะถูกนำให้วิ่งผ่าน undulator สำหรับผลิต MIR FEL อีกขบวนหนึ่งจะวิ่งผ่าน undulator อีกชุดหนึ่ง สำหรับผลิต THz FEL ทำให้สามารถผลิตแสงทั้งสองย่านได้พร้อมกัน ความท้าทายคือการออกแบบและคำนวณพลศาสตร์ของอิเล็กตรอน เนื่องจากตามปกติการผลิตแสงทั้งสองย่านต้องการลำอิเล็กตรอนพลังงานต่างกัน แต่ในกรณีของ FHI-FEL เนื่องจากพลังงานของอิเล็กตรอนที่ถูกเร่งก่อนผ่าน kicker มีค่าเดียว การจะทำให้สามารถผลิตแสงทั้งสองช่วงได้ใน tunability ที่กว้างมาก ต้องทำการ optimize พารามิเตอร์ต่างๆอย่างดี เช่น ความเข้มสนามแม่เหล็กของ undulator, จำนวนคาบของแม่เหล็ก ไปจนถึงช่วงของระยะห่างระหว่างขั้วแม่เหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้การเตะอิเล็กตรอนด้วย kicker อาจส่งผลต่อสมบัติของพัลส์อิเล็กตรอน เช่น ขนาดและการกระจายตัวตามขวาง, ประจุของพัลส์, emittance ซึ่งจะส่งผลต่อ FEL ที่จะผลิตออกมาด้วย อย่างไรก็ดี ระบบเครื่องเร่งอนุภาคดังกล่าวสามารถทำงานได้เกือบอัตโนมัติแบบต่อเนื่อง โดยผู้ดูแลเพียงทำการสั่งเดินเครื่องผ่านระบบทางไกลในตอนเช้า เครื่องจะเริ่มการทำงานตามขั้นตอน เมื่อแสงพร้อมใช้ ผู้ใช้งานสามารถปรับจูนความยาวคลื่นตามต้องการผ่านระบบเชื่อมต่อ และเมื่อสิ้นสุดวัน (เวลาดึกของวัน) ผู้ใช้งานคนสุดท้ายสามารถกดปุ่มหยุดทำงาน เครื่องก็จะทำการหยุดทำงานตามขั้นตอน สิ่งที่กล่าวมานี้ทั้งน่าทึ่งและน่าชื่นชม ในการคิดอย่างรอบคอบ ครบถ้วนแบบคนเยอรมัน พวกเราที่ได้เห็นต่างรู้ดีว่ากว่าจะแตะถึงจุดนี้ได้อาศัยการลงทุนและการทำงานหนักอย่างมหาศาล รวมถึงต้องมีฝ่ายสนับสนุนที่พร้อมเพรียง FHI-FEL เริ่มก่อสร้าง ในปี 2010 สามารถให้บริการ MIR FEL ในปี 2013 เริ่มอัพเกรดให้เป็นระบบ two-colour ในปี 2018 และสามารถผลิตแสงพร้อมกันได้ ในปลายปี 2023 ที่เล่ามาอาจทำให้ผู้อ่านจินตนาการภาพเหมือนทุกอย่างง่ายดาย แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการลงทุนอย่างมหาศาลและต่อเนื่องของสถาบัน โดยจ้างบริษัทเอกชนที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกออกแบบและดำเนินการสร้าง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสร้างนั้นชัดเจน คือ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ถึงปัจจุบันถ้านับเฉพาะงานวิจัยตีพิมพ์ที่เป็นผลจาก FHI-FEL นี้มีประมาณ 100 ผลงานตีพิมพ์ และหลังจากทำงานในระบบ two-colour ผมคิดว่าจะมีผลงานการศึกษาค้นคว้าออกมาอีกมากมาย

FHI แรกเริ่มมีชื่อก่อตั้งในปี 1911 คือ Kaiser Wilhelm Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry เป็นหนึ่งในสองสถาบันแรกของ (Kaiser Wilhelm Gesellschaft; KWG) คู่กับ Kaiser Wilhelm Institute for Chemistry โดยการเกิดขึ้นของ KWG นับเป็นลำดับที่สามของนวัตกรรมเชิงสถาบัน (institutional innovation) ของเยอรมนีในด้านการศึกษาวิจัย ต่อจากการก่อตั้ง Friedrich Wilhelm University (Berlin University) ในปี 1810 ที่เริ่มส่งเสริมการหลอมรวมระหว่างการเรียนและการวิจัย ต่อด้วยการก่อตั้ง Imperial Institute of Physics and Technology ณ Berlin-Charlottenburg ในปี 1887 เป็นสถาบันวิจัยแรกที่อยู่นอกระบบมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงตามด้วย KWG ในปี 1911 ซึ่งมีเป้าหมายในการแข่งขันด้านงานวิจัยระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะมาแย่งชิงฐานะด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ของเยอรมนีในขณะนั้น

การก่อตั้ง Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry ในปี 1911 ผมเองมองว่าเป็นการมองการณ์ไกลที่สอดคล้องกับบริบทของทั้งประชาคมวิจัยและนักการเมืองในขณะนั้น เนื่องจากสถาบันฟิสิกส์ซึ่งเป็นพื้นฐานได้ถูกตั้งไปแล้ว ส่วนสถาบันด้านเคมีที่กำลังจะถูกตั้งพร้อมกันก็น่าจะถูกอุทิศให้งานทางเคมีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นกระแสหลักขณะนั้น ในขณะที่ศาสตร์ด้านไฟฟ้าเคมีกำลังก่อตัว (เริ่มมีสมาคมไฟฟ้าเคมีในปี 1902 และ Robert Millikan วัดประจุอิเล็กตรอนได้ในปี 1911 ซึ่งเป็นปีเดียวกัน) นอกจากการสนับสนุนจากรัฐ การเกิดขึ้นของ Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry ใน Berlin ยังได้รับการสนับสนุนหลักจากภาคเอกชน คนสำคัญ คือ Leopold Koppel นายธนาคารและเศรษฐี ซึ่งเป็นคนที่เสนอว่าหากต้องการให้เขาช่วยสนับสนุนเงินทุนในการก่อตั้ง เขาต้องมีสิทธิ์เลือกผู้อำนวยการสถาบัน และผู้นั้นคือ Fritz Haber ที่ในขณะนั้นเป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีฟิสิกส์และไฟฟ้าเคมีอยู่ที่ Karlsruhe

ที่จริงแล้วความต้องการเลือก Fritz Haber เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ของ Koppel แทนที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการเคมีฟิสิกส์และไฟฟ้าเคมี อย่างเช่น Walther Nernst ที่มีผลงานระดับที่ก่อให้เกิดการนำไปสู่กฎข้อที่สามของอุณหพลศาสตร์ ซึ่งทำงานอยู่ใน Berlin อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ไร้เหตุผล เนื่องจาก Koppel มองจากมุมมองนักธุรกิจ ซึ่งเห็นแล้วว่างานที่ Haber ศึกษา ร่วมกับ Carl Bosch ซึ่งเป็นนักวิจัยของ BASF ขณะนั้น มีโอกาสที่จะทำได้ในระดับอุตสาหกรรม ภายหลังเรารู้จักกันในชื่อ Haber-Bosch process ซึ่งเป็นการสังเคราะห์แอมโมเนียจากแก๊สไนโตรเจน และไฮโดรเจน โดยใช้ เหล็กเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ความสำคัญของการผลิตแอมโมเนียในระดับอุตสาหกรรม คือ การใช้ผลิตปุ๋ยสำหรับภาคเกษตรกรรม โดยสถิติบอกว่าหนึ่งในสามของการผลิตอาหารต่อปี ใช้แอมโมเนียจาก Haber-Bosch process ที่ใช้สารตั้งต้นเป็นแก๊สไนโตรเจนจากอากาศ และอาหารเหล่านี้เลี้ยงประชากรโดยประมาณครึ่งหนึ่งของโลก (turning air into bread) ซึ่งงานนี้จะทำให้ Haber ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ในปี 1918

หลังจากตกลงเป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรกในปี 1911 สามปีให้หลังก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI) สถาบันภายใต้การนำของ Haber ได้ทำงานรับใช้กองทัพเยอรมนี เพื่อที่จะผลิตยุทโธปกรณ์ ในช่วงแรกเป็นพวกวัตถุระเบิดและวัตถุติดไฟ มีการทดลองทางเคมีมากมาย รวมถึงอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของนักวิจัย Haber จึงหันเหไปในทิศทางของการศึกษาแก๊สพิษเพื่อเป็นอาวุธสงคราม ที่เขาว่ากงล้อของประวัติศาสตร์มักจะหมุนวนเหตุการณ์ต่างๆกลับมา รอบแล้วรอบเล่านั้นก็มีความจริงอยู่ เพราะหากได้อ่านข้อเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วงดังกล่าวจะพบว่ามีความคล้ายกับ Manhattan project อันโด่งดัง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมารวมกันสร้างอาวุธโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ตนมี เพื่อเอาชนะกันทางการทหาร โดยมี Haber เป็นผู้นำ (Haber กับ Oppenheimer นั้นมีความคล้ายกันอยู่บ้าง คือ ไม่ได้เป็นอัจฉริยะด้านวิชาการ แต่เป็นคนเก่งที่มีความมุ่งมันและมีบุคลิกความเป็นผู้นำ การศึกษาหลายอย่างถูกเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เป็นเพื่อนร่วมงานไม่เห็นด้วย แต่ในบริบทสงครามคนสองคนนี้เหมือนกันตรงที่คิดว่าต้องรับใช้ชาติของตน) นอกเหนือจากอาวุธ ผลพลอยได้ คือ เทคโนโลยีต่างๆ ในเวลาของ Haber มีการทดลองมากมายทั้งเพื่อสร้างแก๊สพิษ และ อุปกรณ์ป้องกัน เกิดเทคโนโลยีเกี่ยวกับไส้กรองอากาศ (filters) สำหรับหน้ากากแก๊สพิษ เป็นต้น แม้แต่การศึกษาความเป็นพิษของแก๊สยังมี Haber’s rule ที่เขียนได้ว่า

tC = k

โดย t คือ เวลาที่สูดดมแก๊สจนก่อเกิดผลที่เป็นพิษ

C คือ ความเข้มข้นของแก๊ส

k คือ Haber’s constant ที่ขึ้นกับชนิดแก๊ส และ ผลความเป็นพิษ

พูดง่ายๆ ถ้าเพิ่มความเข้มข้นแก๊ส เป็น สองเท่า เรามีเวลาน้อยลงครึ่งหนึ่ง

แก๊สพิษที่โด่งดังในช่วงดังกล่าว คือ แก๊สคลอรีน ซึ่งเมื่อรวมตัวกับน้ำจะเกิดกรดไฮโดรคลอริก (HCl) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ เมื่อสูดแก๊สคลอรีนเข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะปอดซึ่งชุ่มน้ำ กรดก็จะทำลายระบบทางเดินหายใจ ณ สมรภูมิ Ypres ในวันที่ 22 เมษายน 1915 แก๊สคลอรีน 150 ตัน ถูกปล่อยเหนือน่านฟ้า มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บราว 7,000 คน มีคนตาย 350 เป็นจุดเริ่มต้นของอาวุธเคมีในสงคราม Haber ได้รับสมญานาม “Father of the chemical warfare” เหตุการณ์นี้เกิดก่อนที่ Haber จะได้รับรางวับโนเบลในปี 1918 แน่นอนว่าส่งผลให้เกิดข้อโต้แย้งมากมาย

หลัง WWI สงบลง พร้อมกับการสละราชสมบัติของ Kaiser Wilhelm II และการก่อกำเนิดของ Weimar Republic นับได้ว่าเป็นช่วงปีทองของสถาบัน และของ Berlin เองด้วยเช่นกัน มีนักวิทยาศาสตร์ระดับนำมากมายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเยี่ยมเยือนสถาบัน เช่น W. Nernst, A. Einstein, M. Planck, R. Millikan, M. von Laue, J. Franck, L. Meitner, O. Hahn, N. Bohr, G. Hertz, P. Pringsheim etc. ทำให้ Berlin เป็นเสมือนศูนย์กลางของการวิจัยแห่งศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลาดังกล่าวงานวิจัยของสถาบันเน้นไปในด้าน colloid chemistry และ atomic structure พร้อมๆกับการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ Gottingen นำโดย Max Born ในขณะที่ Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry ก็เริ่มพัฒนาเทคนิคทาง x-ray และ spectroscopy ที่จะส่งเสริมการทดลองที่สอบคล้องกับปรากฏการณ์ทางควอนตัม

ในปี 1933 นาซีเยอรมันเข้าสู่อำนาจ สถานการณ์ของสถาบันนั้นลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสถานที่ทำงานของคนเชื้อสายยิว (นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิในเยอรมนีมีจำนวนมากที่มีเชื้อสายยิว) หลายคนต้องออกจากงานตามกฎหมาย การเดินทางลี้ภัยเป็นเรื่องไม่ลำบากนักสำหรับนักวิทยาศาสตร์ระดับชั้นนำ เนื่องจากมักจะได้รับการต้อนรับจากจุดหมายปลายทาง แต่สำหรับคนทำงานในตำแหน่งอื่น เช่น ช่างเทคนิค เลขาฯ นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก Fritz Haber เองในฐานะผู้อำนวยการก็ได้รับแรงกดดัน เนื่องจากมีเชื้อสายยิว (แม้จะเปลี่ยนศาสนาไปแล้วก่อนหน้า) Haber พยายามยื้อเวลาในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่จำเป็นต้องลี้ภัย ก่อนที่ตัวเองจะเดินทางไปยัง Cambridge เมื่อ Haber ออกจากตำแหน่ง รัฐบาลส่งคนของนาซีเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสถาบัน ระหว่างช่วงเวลาที่ลี้ภัย Haber ก็ยังต้องเดินทางไปมาหลายที่ คืนหนึ่งขณะพักอยู่ในโรงแรม ณ เมือง Basel Haber เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เสียชีวิต ในวันที่ 29 มกราคม 1934 ระหว่างเดินทางไปยัง Palestine เพื่อช่วยเพื่อนร่วมงานก่อนตั้ง Faculty of Natural Science of University of Jerusalem งานระลึกถึง Haber ถูกจัดอย่างเรียบง่ายภายใต้การกดดันของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุน แต่ด้วยความกล้าหาญของ Max Planck นายกของสมาคม KWG ในขณะนั้น จึงทำให้เกิดงานรำลึกถึง Haber ได้ กระนั้นบุคลากรในสังกัดรัฐที่ต้องการมาร่วมงานยังต้องทำเรื่องขออนุญาต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII) เยอรมนีแพ้สงคราม ปี 1947 นับเข้าสู่ช่วงของสงครามเย็น เยอรมันและ เมืองหลวง Berlin เอง ถูกแบ่งเป็นฝั่งตะวันออก ปกครองโดยสหภาพโซเวียต และฝั่งตะวันตกที่ปกครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เขต Dahlem และ Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry แม้จะอยู่ในฝั่งตะวันตก แต่การติดต่อวิจัยโดยเฉพาะกับนานาชาตินั้นถือว่าซบเซา เนื่องจาก West Berlin เป็นพื้นที่ในวงล้อมของสหภาพโซเวียต KWG ถูกเปลี่ยนเป็นสมาคมมักซ์พลังค์ MPG ในปี 1948 และทำให้เกิดสถาบันมักซ์พลังค์ Max Planck Institute (MPI) ขึ้นอีกหลายสถาบัน ภายใต้ MPG หนึ่งในนั้นคือ MPI for Physical Chemistry ที่ Gottingen ในปี 1951 Max von Laue เขารับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน Institute for Physical Chemistry and Electrochemistry ที่ Dahlem ในปีถัดมาสถาบันจึงถูกหลอมรวมเข้าอยู่ภายใต้โครงสร้างของ MPG และเปลี่ยนชื่อเป็น Fritz Haber Institute (FHI) เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้อำนวยการคนแรก คล้ายกับ Berlin ที่ถูกแบ่งปกครองโดยประเทศต่างๆ งานวิจัยของ FHI ภายใต้การนำของ Laue ในเวลานั้นก็มีลักษณะเหมือนผ้าปะต่อ Laue เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างของวัสดุ จึงพยายามที่จะผลักดันงานวิจัยไปในทิศทางดังกล่าว อาศัยเทคนิค เช่น การกระเจิงรังสีเอ็กซ์ เริ่มมีการสร้างห้องปฏิบัติการอุณหภูมิต่ำยิ่งยวด ในขณะที่ก็ยังมีนักวิจัยบางส่วนที่ทำงานบนพื้นฐานเดิมของสถาบัน คือ ด้านไฟฟ้าเคมี และปฏิกิริยาพื้นผิว นอกจากนั้นสถาบันก็ทำงานกับนักวิจัยจากบริษัทเอกชน (Siemens AG) คือ Ernst Ruska ให้พื้นที่ในการสร้างห้องปฏิบัติการจุลทรรศนศาสตร์อิเล็กตรอน จน Ruska ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา

หลังจากการเกษียณอายุของ Laue ในปี 1959 พัฒนาการของ FHI ก็ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ผลัดเปลี่ยนผู้อำนวยการ จนผ่านยุคสงครามเย็นหลังการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 จะเห็นว่าสถานะของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งจะรุ่งเรืองหรือตกอับ นอกจากตัวสถาบันเองแล้ว ก็ยังขึ้นกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในช่วงเวลาร้อยปีของ FHI มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย คือ การมุ่งมั่นวิจัยในองค์ความรู้พื้นฐาน ลงทุน ลงแรงกับเครื่องมือวิจัยที่ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีขณะนั้นจะทำได้

ในโอกาสที่คณะของพวกเราเดินทางเยือน FHI ในครั้งนี้ นอกจากจะได้สร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และได้เห็นศักยภาพของสถาบันวิจัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินแล้ว พวกเรายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้พวกเราเฝ้ารับเสด็จฯ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยือน Fritz Haber Institute เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

Prof. Dr. Beatriz Roldan Cuenya ผู้อำนวยการสถาบัน FHI และผู้อำนวยการสาขา Interface Science พร้อมทั้งคณะผู้บริหารสถาบัน นักวิจัยในสังกัด FHI และ คณะนักวิจัยจากประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ

คณะนักวิจัยจากประเทศไทย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล (ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพร สายสุด (ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อาจารย์ มนต์ชัย จิตรวิเศษ (สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) ดร. ณัฐวุฒิ ใจสืบ (HZB) และ นางสาวกัลยาพร กองมะลิ (นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติงานวิจัยระยะสั้น ณ PITZ) ได้เข้าเยี่ยมชม และแลกเปลี่ยนด้านวิชาการ กับส่วนเครื่องเร่งอนุภาคและเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระของ FHI โดยหัวหน้าส่วน Dr. Wieland Schöllkopf บรรยายนำชม

===============================================

เว็บไซต์ของ FHI: Fritz Haber Institute

===============================================

ตอนที่ 1: บันทึกการเดินทางเยี่ยมหน่วยงานวิจัย ณ สหพันธรัฐเยอรมนี ตอนที่ 1
ตอนที่ 2: บันทึกการเดินทางเยี่ยมหน่วยงานวิจัย ณ สหพันธรัฐเยอรมนี ตอนที่ 2
ตอนที่ 3: บันทึกการเดินทางเยี่ยมหน่วยงานวิจัย ณ สหพันธรัฐเยอรมนี ตอนที่ 3

Share