เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานและกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดการอบรมนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาคในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 7 (ISBA24) the 7th International School on Beam Dynamics and Accelerator Technology (ISBA24) ณ ห้องประชุมเรือนอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล หัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กล่าวรายงานเกี่ยวกับการอบรมดังกล่าว โดยในงานมีผู้แทนจากหน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ ดร.สุพัฒน์ กลิ่นเขียว จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเครื่องเร่งอนุภาคและด้านฟิสิกส์ของไทย อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง และดร.ดุษฎี วรรณขจร และผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ให้ร่วมการสนับสนุนการจัดอบรม อาทิ Professor Dr. Masao Kuriki จาก Inter-Institution Network for Accelerator Science Program (IINAS) และ President of Particle Accelerator Society of Japan รองศาสตราจารย์ ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม นายกสมาคมฟิสิกส์ไทย คุณสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ คุณวราวุธ ขจรฤทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม หัวหน้าโครงการห้องปฏิบัติการเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและเทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิจัยระดับแนวหน้าในประเทศไทย โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคุณชญานิศ พบสุข จากบริษัท Sigma Solution จำกัด เข้าร่วมพร้อมกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมการอบรมจากประเทศต่าง ๆ จำนวนกว่า 80 คน โดยแบ่งดังนี้ ผู้เข้าร่วม จำนวน 66 คน ได้แก่ นักเรียน (Full support) 31 คน ประกอบด้วย ญี่ปุ่น 8 คน จีน 5 คน เกาหลี 3 คน ไต้หวัน 2 คน อินเดีย 4 คน ไทย 4 คน อินโดนีเซีย 5 คน นักเรียน (Partial support) 30 คน ประกอบด้วย ญี่ปุ่น 6 คน จีน 7 คน เกาหลี 1 คน ไทย 9 คน อินโดนีเซีย 3 คน ตุรกี 1 คน เยอรมัน 1 คน นักเรียน (ลงทะเบียนเข้าร่วม) 5 คน ประกอบด้วย ไทย 5 คน ผู้สอนและกรรมการ จำนวน 22 คน ประกอบด้วย ต่างประเทศ 14 คน ในประเทศ 8 คน
“การอบรมนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาคในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 7 (ISBA24) the 7th International School on Beam Dynamics and Accelerator Technology (ISBA24)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 9 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเครื่องเร่งอนุภาค สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันและหน่วยงานวิจัยด้านเครื่องเร่งอนุภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการอบรมนานาชาติในครั้งนี้ ประกอบด้วยหัวข้อการอบรมหลัก 7 เซสชั่น และยังมีการอบรมภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองระบบเครื่องเร่งอนุภาค จำนวน 4 โปรแกรม โดยมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในเชิงทฤษฎีของเครื่องเร่งอนุภาคและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และการบรรยายในส่วนของการนำเครื่องเร่งอนุภาคไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม และการประยุกต์ใช้ machine learning และ AI กับเครื่องเร่งอนุภาค รวมทั้งมีการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษา (student session) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาเครื่องเร่งอนุภาค นอกจากนั้นยังมีส่วนของ Hand on training session ที่ให้นักศึกษาได้ลงมือทำการจำลองลำอิเล็กตรอนในเครื่องเร่งอนุภาคทั้งแบบเชิงวง และเชิงเส้น โดยใช้โปรแกรม ASTRA, ELEGANT, OPERA และ โปรแกรม CST ซึ่งได้มีแบ่งกลุ่มนักศึกษาโดยแต่ละกลุ่มจะได้ภารกิจที่แตกต่างกันไป และนักศึกษาทุกกลุ่มได้นำเสนอผลงานในการจำลองลำอิเล็กตรอนในเครื่องเร่งของตนเองในวันสุดท้ายของการอบรม
โดย ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค เป็นกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้การผลักดันของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย มุ่งสู่การยกระดับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับกำลังคน รวมทั้งพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียนด้านเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ จะผลักดันและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพจากในประเทศและต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงจากเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ ซึ่งประกอบด้วยรังสี MIR และ FIR/THz ที่เกิดจากเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระที่มีสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในงานวิจัยและการประยุกต์ขั้นแนวหน้า สามารถนำไปใช้ศึกษาระบบที่ซับซ้อน โดยยังมีจำนวนจำกัดแม้แต่ในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างเทคนิคการวิเคราะห์ใหม่ ให้เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศและประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งหวังและเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั้งในประเทศและในประชาคมอาเซียนให้เข้าถึงเครื่องมือและเทคนิคการทดลองขั้นสูง อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตรและอาหาร การวิจัยโบราณคดีเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานวิจัยเชิงคุณค่าทาง ศิลปวัฒธรรม นอกจากนี้ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมยังช่วยขยายขีดความ สามารถรองรับงานวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้น สร้างสรรค์ นวัตกรรมหลากหลายชนิด ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านความสัมพันธ์ ระหว่างวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรของไทย สาขาอาชีพต่าง ๆ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค วิศวกรและช่างผู้ชำนาญการ เป็นต้น