ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค เข้าร่วมจัดนิทรรศการในงาน “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND”

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ทรงเปิดงาน มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัตมน์ ปลัดกระทรวง อว. คณะผู้บริหารกระทรวง อว. รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล หัวหน้าศูนย์รวมผู่เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค เฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมมี นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และผู้แทนศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย ณ ฮอลล์ 3 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงวางพระหัตถ์บนแท่นเปิดงานฯ จากนั้นเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการ 6 โซนหลัก ได้แก่

  1. โซน SCIENCE FOR ALL WELL-BEING ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากนวัตกรรมของคนไทย
  2. โซน SCIENCE FOR FUTURE THAILAND นำเสนอขบวนรถไฟแห่งอนาคต ฉายภาพให้เห็นประเทศไทยในอนาคตอีก10 ปีข้างหน้า
  3. โซน INSPIRED BY SCIENCE ที่จะจุดประกายความคิด สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้ทุกคน
  4. โซน SCIENCE FOR LIFELONG LEARNING เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมแนะแนวอาชีพแห่งอนาคต
  5. โซนSCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH แสดงศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย
  6. โซน STARTUP LAUNCHPAD ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการผลักดัน Startup ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับงาน “อว.แฟร์” เป็นงานมหกรรมที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาที่มีคุณภาพ ด้าน Soft Power ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยมากกว่า 170 หน่วยงาน ครอบคลุมทั่วประเทศ ผู้เข้าชมงานจะได้พบกับกิจกรรมและสาระความรู้ดี ๆ ผ่านนิทรรศการ 6 โซนที่แสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีของไทยและนานาชาติ จัดแสดงระหว่างวันที่ 22-28 กรกฏาคม พ.ศ.2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“อว.แฟร์” เป็นงานมหกรรมที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม การศึกษา และ Soft Power จากหน่วยงานมากกว่า 170 หน่วยงาน ครอบคลุมทั่วประเทศ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ร่วมมอบความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากมาย ตลอดระยะเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฏาคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผ่านนิทรรศการ 6 โซน บนพื้นที่กว่า 23,000 ตารางเมตร ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ มีประชาชนเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์รวมกว่า 500,000 คน สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 500 ล้านบาท

โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาคได้ร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานของสถาบันภายใต้เครือข่ายศูนย์ฯ ได้แก่

  1. ข้าวเจ้าหอม มช. 10-1 ข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ได้จากการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวหอมไทยที่มีชื่อเสียงสูงสุด โดยใช้เทคโนโลยีลำไอออนพลังงานต่ำ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์กลายที่ให้ผลผลิตและมีสารหอม 2AP สูง
  2. เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นสำหรับฉายผลไม้ เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรงสำหรับประยุกต์ใช้ด้านการเกษตรเพื่อช่วยชะลอการเน่าเสียของผักและผลไม้ ผ่านการฉายรังสีเอกซ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งผลิตจากการเร่งอิเล็กตรอนพลังงานสูงให้ชนเป้าโลหะหนัก จากการพัฒนาของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
  3. THz Photoconductive Antenna (PCA) ต้นแบบการพัฒนาตัวส่งสัญญาณแบบเสาอากาศตัวนำเชิงแสงในย่านเทระเฮิรตซ์ ณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ด้วยการปรับปรุงวัสดุกึ่งตัวนำและพัฒนาเป็นอุปกรณ์ PCA เพื่อสร้างสัญญาณเทระเฮิรตซ์ ซึ่งใช้เป็นตัวสร้างสัญญาณและตัวรับสัญญาณที่มีประสิทธิภาพดี ราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ร่วมกับ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค ได้จัดการอบรม “การใช้เครื่องเร่งอนุภาค และเทคโนโลยีเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ/เทร่าเฮิรตซ์ ในการประยุกต์ใช้ด้านหลังการเก็บเกี่ยวผลิตผลเกษตร” ณ ห้อง MR201 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนโจทย์การวิจัยและปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวพร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและเทระเฮิรตซ์ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 6 ท่าน ได้แก่

  1. ดร.ปาริชาติ เทียนจุมพล ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. ผศ. ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค สังกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  4. ดร.ยุทธนา อินทรวันณี ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค สังกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
  5. ดร.นาวิน จันทร์ทอง ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค สังกัด สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
  6. ผศ. ดร.สาคร ริมแจ่ม ผู้เชี่ยวชาญศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค สังกัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยระหว่างการอบรม มีผู้ให้ความสนใจร่วมรับฟังกว่า 60 คน

และในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 รศ. ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล หัวหน้าศูนย์ฯ ได้ร่วมพิธีรับใบประกาศนียบัตร จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และร่วมกิจกรรม Hub talk ณ เวทีย่อย (mini stage) โซน Science for Future Thailand โดยพูดคุยในหัวข้อเรื่อง “การดำเนินงานและเป้าหมายต่อไปของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค” ร่วมกับ นายวัชนันท์ เรืองกูล ผู้จัดการศูนย์ฯ โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 50 คน

แชร์