ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งฯ ให้การต้อนรับ Professor Hideaki Ohgaki จาก Kyoto University

เมื่อวันที่ 7 กันยายน  2566 รศ.ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญภายใต้ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนและเลเซอร์อิสระย่านอินฟราเรด/เทร่าเฮิรตซ์ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย ให้การต้อนรับ Professor Hideaki Ohgaki  ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครื่องเร่งอนุภาคและการประยุกต์ใช้งาน จาก Kyoto University ณ ห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้น และเยี่ยมชมสถานีทดลองด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนฯ รวมทั้งหารือเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบโพรงแสง (optical cavity) สำหรับผลิตแสงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดขั้นกลาง (MIR-FEL)

โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอิเล็กตรอนและเลเซอร์อิสระย่านอินฟราเรด/เทร่าเฮิรตซ์ เป็นกิจกรรมภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้การผลักดันของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เพื่อเสริมแกร่งระบบนิเวศการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศไทย มุ่งสู่การยกระดับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับกำลังคน รวมทั้งพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียนด้านเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญฯ จะผลักดันและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงจากเลเซอร์อิเล็กตรอน ซึ่งรังสี MIR และ FIR/THz ที่เกิดจากเลเซอร์อิเล็กตรอนมีสมบัติเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในงานวิจัยและการประยุกต์ขั้นแนวหน้า สามารถนำไปใช้ศึกษาระบบที่ซับซ้อน โดยยังมีจำนวนจำกัดแม้แต่ในระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างเทคนิคการวิเคราะห์ใหม่ ให้เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศและประชาคมอาเซียน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งหวังและเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั้งในประเทศและในประชาคมอาเซียนให้เข้าถึงเครื่องมือและเทคนิคการทดลองขั้นสูง อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การสร้างมูลค่าผลผลิตทางเกษตรและอาหาร การวิจัยโบราณคดีเชิงนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนงานวิจัยเชิงคุณค่าทางศิลปวัฒธรรม นอกจากนี้ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ยังช่วยขยายขีดความสามารถรองรับงานวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้น สร้างสรรค์ นวัตกรรมหลากหลายชนิด ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทย สาขาอาชีพต่าง ๆ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค วิศวกรและช่างผู้ชำนาญการ เป็นต้น

ภาพบรรยากาศการต้อนรับผู้เชี่ยวชาญจาก Kyoto University

แชร์