การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหารือความร่วมมือทางวิชาการ ณ Fritz Haber Institute of the Max Planck Society (FHI)

ระหว่างวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล หัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม รองหัวหน้าศูนย์ฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพร สายสุด และ อาจารย์ ดร.มนต์ชัย จิตรวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหารือด้านการวิจัยและการพัฒนากำลังคน ภายใต้พันธกิจของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค ณ สถาบันวิจัย Fritz Haber Institute of the Max Planck Society (FHI) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยได้รับการต้อนรับจาก Dr. Wieland Schöllkopf หัวหน้าสถาบันวิจัย

Fritz Haber Institute of the Max Planck Society เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมนี มีความเชี่ยวชาญจำเพาะ และมุ่งเน้นงานวิจัยในสาขาเคมีเชิงฟิสิกส์และไฟฟ้าเคมี ศึกษาวิจัยทั้งระดับเชิงลึก และระดับการประยุกต์ใช้ในหลายหัวข้อ เช่น ฟิสิกส์อะตอมและสเปกโทรสโกปี เคมีฟิสิกส์ระดับโมเลกุล วิทยาศาสตร์ของพื้นผิวและรอยต่อ จลนศาสตร์และพลศาสตร์ของปฏิกิริยาเคมี เคมีเชิงทฤษฎี ชีวเคมีและการแพทย์ วิทยาศาสตร์พลังงานทดแทน เป็นต้น โดยมีห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือวิจัยขั้นสูงที่หลากหลาย หนึ่งในนั้น คือ แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ (free-electron laser, FEL) จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน ที่ผลิตแสงเลเซอร์ย่านอินฟราเรดความเข้มสูงที่มีห้วงสั้นระดับเฟมโตวินาที แสงเลเซอร์นี้มีขีดความสามารถในการใช้ศึกษาโครงสร้าง อันตรกิริยา ไปจนถึงพฤติกรรมของโมเลกุลเคมี  และสสาร ที่เกิดขึ้นในระดับโมเลกุลและในช่วงเวลาสั้น ๆ ได้ละเอียดแม่นยำมากยิ่งขึ้น ถือเป็นเครื่องมือวิจัยระดับแนวหน้าของโลก

ส่วนสำคัญ คือ การเยี่ยมชมเครื่องเร่งอนุภาคสำหรับผลิตเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระอินฟราเรดย่านกลาง และย่านไกล รวมทั้งระบบลำเลียงแสง สถานีทดลอง จนถึงระบบควบคุม เนื่องจากในประเทศไทย ที่ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังดำเนินการสร้างระบบเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อผลิตแสงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรด ที่มีสมบัติคล้ายกับแหล่งกำเนิดแสงของ Fritz Haber Institute of the Max Planck Society คณะผู้วิจัยได้เดินทางมาศึกษาและสร้างความร่วมมือทางวิชาการ โดยมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคนิคเครื่องเร่งอนุภาค เพื่อให้สามารถดำเนินการสร้างแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาสถานีทดลองเพื่อรองรับนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ให้เข้ามาใช้เทคนิควิเคราะห์ขั้นสูงได้เป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศต่อไปในอนาคต

แชร์