การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหารือความร่วมมือทางวิชาการ ณ Deutsches Elecktronen Synchrotron (DESY)

ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี ว่องรัตนะไพศาล หัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม รองหัวหน้าศูนย์ฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุพร สายสุด และ อาจารย์ ดร.มนต์ชัย จิตรวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการและหารือด้านการวิจัยและการพัฒนากำลังคน ภายใต้พันธกิจของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาค ณ สถาบันเดซี หรือ Deutsches Elecktronen Synchrotron ที่เมืองซอยเธน (Zeuthen) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

โดยได้เข้าพบ Dr. Juliane Roensch-Schulenburg และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ FLASH (Free Electron Laser in Hamburg) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงและสถานีทดลองสำหรับผู้ใช้งานเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่าน UV และ Soft X-ray เครื่องแรกของโลก จากนั้นได้เข้าพบ Dr. Markus Hoffmann อดีตนักวิจัยทีมสร้างระบบเครื่องเร่งอนุภาคของ European X-Ray Free-Electron Laser Facility และได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ PETRA III ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอนของสถาบันเดซี หนึ่งในแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอนย่าน X-ray ที่มีความสว่างจ้าสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในการนี้ทางคณะได้รับโอกาสเข้าเยี่ยมชมระบบลำเลียงแสงที่ใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น PIPE (Photon-Ion at PETRA) ซึ่งสามารถศึกษาอันตรกิริยาของแสง X-ray กับไอออนของสสารในสถานะแก๊ส เป็นต้น

ก่อนเดินทางกลับ ได้เข้าเยี่ยมชมหน่วยวิจัย REGAE (Relativistic Electron Gun for Atomic Exploration) และเข้าพบ Dr. Klaus Floettmann หัวหน้าห้องวิจัย โดยงานวิจัยหลักเป็นการพัฒนาระบบเครื่องเร่งอิเล็กตรอนขนาดเล็ก เพื่อศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงสถานะอิเล็กตรอนในสสาร เช่น โมเลกุลเคมี ชีวโมเลกุล ซึ่ง Dr. Klaus Floettmann เป็นนักวิจัยที่มีส่วนเป็นอย่างมากในการพัฒนาปืนอิเล็กตรอนและระบบ Injector System ของ European X-Ray Free-Electron Laser Facility และยังเป็นผู้ที่พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ A Space Charge Tracking Algorithm (ASTRA) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในด้านการจำลองพลศาสตร์ของลำอิเล็กตรอนในเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น

แชร์